2.1 ภาพ bird’s eye view
เป็นมุมภาพที่ค่อนข้างตายตัว พลิกแพลงหรือเปลี่ยนแปลงองศาได้ยาก เพราะกล้องถูกกำหนดให้ต้องถ่ายจากเหนือศีรษะลงมาเหมือนกับเป็นการแทนสายตานกที่บินอยู่บนฟ้า เนื่องจากเราไม่ค่อยได้เห็นภาพในมุมมองแบบนี้ วัตถุหรือตัวละครที่ถูกถ่ายจะดูแปลกตาออกไป และมีลักษณะที่เป็นนามธรรม (abstract) ไม่สามารถเข้าใจรูปทรงที่พบเห็นได้ทันที ผู้กำกับส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงไม่ใช้ภาพมุมมองนี้ ยกเว้นในบางกรณี มุมกล้องแบบนี้อาจเป็นประโยชน์ในแง่การสื่อความหมาย โดยภาพในมุมนี้จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกับตัวเองลอยอยู่บนท้องฟ้าเหมือนเทพผู้ทรงอำนาจ และกำลังมองดูละครตัวเล็กกระจ้อยร่อยที่ไม่มีความสำคัญ
2.2 ภาพ high angle
หรือภาพมุมสูง ภาพลักษณะนี้เหมาะสำหรับการใช้เพื่อบอกความซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อหน่าย รวมไปถึงความเชื่องช้า และบางครั้งก็มักใช้เพื่อเน้นความยิ่งใหญ่ของฉากและอาณาบริเวณโดยรอบ เพราะความกว้างใหญ่ของอาณาเขตที่มองเห็นจากมุมสูงจะบดบังความสำคัญของผู้คน ทำให้ตัวละครหรือวัตถุที่ถูกถ่ายลดคุณค่า ต่ำต้อย ไม่น่าเกรงขาม ดังนั้นในบางกรณี ภาพมุมนี้ก็ยังใช้บอกถึงการดูถูกตัวเองของตัวละครได้ด้วย
2.3 ภาพ eye-level shot
หรือภาพระดับสายตา (ประมาณ 5-6 ฟุตจากพื้น) เป็นภาพในลักษณะที่ใกล้เคียงกับที่คนปรกติมองเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเป็นกลาง ในภาพยนตร์ทั่วไป เรามักพบภาพในระดับนี้เป็นพื้นฐาน โดยมักใช้ในฉากปรกติเพื่ออธิบายความทั่วไป ผู้กำกับหลายคนเลือกที่จะใช้มุมภาพระดับสายตาแบบนี้เนื่องจากไม่ต้องการแสดงออกถึงความจงใจในการตกแต่งและชี้นำคนดูมากเกินไป และต้องการเปิดโอกาสให้คนดูเลือกพิจารณาและตัดสินตัวละครเอาเองจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์
2.4 ภาพ low angle
หรือภาพมุมต่ำ ก่อให้เกิดผลตรงข้ามกับภาพมุมสูง เป็นภาพที่เหมาะสำหรับการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของวัตถุหรือตัวละครในแนวดิ่ง สามารถใช้เพื่อเพิ่มความสูงให้กับนักแสดงตัวเตี้ยได้ การเคลื่อนไหวของวัตถุในมุมภาพระดับนี้จะให้ความรู้สึกรวดเร็ว และหากใช้ประกอบในฉากที่รุนแรง ภาพมุมนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความวุ่นวายสับสน ในทางจิตวิทยา ภาพมุมต่ำสามารถเพิ่มความสำคัญให้กับตัวละคร ความใหญ่โตที่ปรากฏก่อให้เกิดความรู้สึกคุกคาม ผู้ชมจะถูกทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคง ถูกครอบงำ ภาพตัวละครที่ถ่ายออกมาจะน่ากลัว น่าเกรงขาม และน่านับถือ ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์ประเภทโฆษณาชวนเชื่อ หรือภาพยนตร์ที่แสดงถึงวีรกรรมห้าวหาญของตัวละครจึงมักใช้ภาพมุมนี้ในการสื่อความหมาย
2.5 ภาพ oblique / dutch angle
หรือภาพมุมเอียง เป็นภาพที่ถ่ายทำโดยไม่ยึดถือแนวขนานกับเส้นขอบฟ้า (horizontal line) ลักษณะภาพจะลาดเอียงไปทางใดทางหนึ่ง บางครั้งก็ใช้แทนสายตาตัวละครเพื่อบอกถึงอาการเสียศูนย์ โดยหลักจิตวิทยาแล้ว ภาพมุมเอียงบอกเป็นนัยถึงความตึงเครียด การเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่ไม่มั่นคง และในฉากที่บอกถึงความรุนแรง ภาพลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความรู้สึกน่ากระวนกระวายได้อย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งประเภทมุมกล้องในอีกลักษณะหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
มุมเฝ้ามอง (objective camera angle) ซึ่งก็คือมุมทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ เป็นมุมที่กำหนดให้คนดูเป็นเสมือนบุคคลที่ 3 ที่คอยสังเกตการณ์เรื่องราวในภาพยนตร์อยู่ห่างๆ และ มุมแทนสายตา (subjective camera angle) ซึ่งมีลักษณะเป็นมุมมองส่วนตัว พาให้คนดูเข้ามาใกล้ชิดและมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ด้วย โดยแบ่งเป็นการแทนสายตาคนดู และการแทนสายตาตัวละครในเรื่อง
objective camera angle |
subjective camera angle |
Cr.http://princezip.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น